scien project
 1. ประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์

 2. ขั้นตอนการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

          2.1 การได้มาซึ่งปัญหา
          2.2 การศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร
          2.3 การจัดทำเค้าโครง
          2.4 การลงมือทำโครงงาน
          2.5 การเขียนรายงาน
          2.6 การเสนอและการแสดงผลงาน

  กลับหน้าหลัก

 

รวบรวมเรียบเรียงโดย
ครูนันทนา สำเภา

 

โครงงานวิทยาศาสตร์ คือ งานวิจัยเล็กๆสำหรับนักเรียน เป็นการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัย หาคำตอบโดยการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

 

ประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์
1.   โครงงานประเภทสำรวจและรวบรวมข้อมูล

โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลซึ่งอาจเป็นข้อมูลในภาคสนาม หรือในธรรมชาติ หรือทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างมาวิเคราะห์ในห้องทดลอง หรือจำลองธรรมชาติขึ้นในห้องปฏิบัติการ แล้วสังเกต รวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้นวิเคราะห์ โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจำแนกเป็นหมวดหมู่ การแยกประเภท การจัดระบบความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่สำรวจมานั้นเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ แล้วนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เป็นแผนผัง แผนภูมิ กราฟ เพื่อให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์ ในเรื่องที่ต้องการศึกษาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผลการศึกษาที่ได้ เป็นเพียงความรู้พื้นฐาน ที่สามารถนำไปต่อยอดต่อไป เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามความคิดเห็น แบบสังเกต
         ตัวอย่างโครงงานประเภทสำรวจ รวบรวมข้อมูล
         -  การสำรวจกีฬาที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่น
          - การสำรวจคำควบกล้ำที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน
         -  การสำรวจความคิดเห็นของชุมชนเสาชิงช้าเรื่องการอนุรักษ์เสาชิงช้า

2. โครงงานประเภททดลอง

โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นโครงงานที่ต้องทำการทดลอง เพื่อต้องการที่จะศึกษาผลของตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อตัวแปรอีกตัวหนึ่ง โดยออกแบบในรูปผลการทดลองเพื่อการศึกษาว่าตัวแปรหนึ่งจะมีผลต่อตัวแปรที่ต้องการศึกษาอย่างไร ด้วยการควบคุมตัวแปรโดยที่ในทางทฤษฎีแล้วอาจมีตัวแปรหลาย ๆ ตัวแปรก็ได้ที่มีผลต่อตัวแปรที่จะศึกษา แต่ในการทดลองดังกล่าวนั้น ผู้ที่ทำการศึกษาจะต้องเลือกศึกษาเพียงตัวแปรเดียว เสียก่อน และจะต้องกำหนดให้ตัวแปรอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อการศึกษานั้น เป็นตัวแปรที่จะต้องทำการควบคุมให้หมดทุกตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกซ้อนของตัวแปร ซึ่งจะทำให้ผลการศึกษานั้นคลาดเคลื่อนไป เช่น ต้นไม้เจริญ เติบโตได้ดีจะต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยและตั้งไว้ในที่มีแสงแดด จากสถานการณ์ดังกล่าว สิ่งที่เป็นสาเหตุหรือมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้มีดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด เป็นตัวแปรต้น ทำให้ต้นไม้เติบโต แต่การทดลองเราจะเลือกมาเพียงสาเหตุเดียวก่อน เช่น เลือกปุ๋ย ตั้งหัวข้อว่า ."ปุ๋ยทำให้ต้นไม้เติบโตได้จริงหรือ" จากนั้นออกแบบการทดลองว่าจะพิสูจน์หัวข้อดังกล่าวได้ย่างไร โครงงานประเภทนี้จะให้ผู้ศึกษาความรู้ลึกมากยิ่งขึ้น โครงงานประเภทนี้ อาจพัฒนามาจากโครงงานสำรวจเพราะเมื่อได้ข้อมูลจากการสำรวจมาแล้ว แต่อยากจะ ทราบรายละเอียดมากขึ้น ก็ทำการศึกษา ค้นคว้าต่อ

การทำโครงงานประเภทนี้ ต้องมีการจัดการกับตัวแปรที่มีผลต่อการทดลอง ซึ่งตัวแปรมี 3 ประเภท คือ
ประเภทของตัวแปร
                1. ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ หมายถึง เหตุของการทดลองนั้น
                2. ตัวแปรตาม ซึ่งจะเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตัวแปรต้น
                3. ตัวแปรควบคุม หมายถึง สิ่งที่ต้องควบคุมให้เหมือนๆกัน มิฉะนั้นจะมีผลทำให้ผลของตัวแปรตามเปลี่ยนไป
  

ตัวอย่างโครงงานประเภททดลอง
          - ไม้ตีปิงปองแบบ ก ตีลูกได้ดีกว่าแบบ ข
          - ยาสีฟันสมุนไพรกำจัดกลิ่นปากได้
          - อาหารที่มีส่วนผสมของขมิ้นชันป้องกันโรคท้องอืดได้

 

3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์

               โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการนำความรู้ทางทฤษฎี หลักการ มาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาหรือประดิษฐ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงาน โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด หรือเป็นการดัดแปลงมาจากของที่มีอยู่แล้วก็ได้ เพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม หรือการสร้าง แบบจำลองเพื่ออธิบายแนวความคิดบางอย่างในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โครงงานนี้จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เป็นพื้นฐาน ที่อาจมาจากการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้า หรือได้สูตรการทำอะไรมาก่อนแล้วใช้เป็นรากฐานต่อการสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือพัฒนาสิ่งประดิษฐ์

ตัวอย่างโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
           โครงงานข้าวกล้องไทยห่อสาหร่าย
            โครงงานกระดาษจากเปลือกผลไม้
            โครงงานเครื่องใส่ปุ๋ยยางพารา     

  1. โครงงานประเภททฤษฎี

โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอความรู้ หรือหลักการใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครเคยคิด หรือขัดแย้ง หรือนำเสนอแนวคิดหรือทฤษฏีใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของสมการ สูตร คำอธิบาย โดยตั้งข้อตกลงหรือกติกา ขึ้นมาเองแล้วเสนอหลักการหรือแนวคิด หรือทฤษฏี ตามกติกาหรือข้อตกลงนั้น ๆ หรือเป็นการขยายทฤษฏีในรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดคิดมาก่อน หรือขยายจากของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งต้องผ่านการพิสูจน์อย่างมีหลักการก่อน การทำโครงงานประเภทนี้ ผู้ทำจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องนั้นเป็นอย่างดี ต้องศึกษาเรื่องราวมากมายจึงจะสามารถสร้างคำอธิบาย หรือทฤษฏีหรือพิสูจน์ทฤษฏีได้
         ตัวอย่างโครงงานประเภทการศึกษาทฤษฎี หลักการหรือแนวคิดใหม่ เช่น
          - โครงงานพิสูจน์สุภาษิตที่ว่า "รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี"
          - โครงงานพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า "ฝึกกายบริหารทุกวัน ร่างกายแข็งแรง"
          - โครงงานพิสูจน์ "ทฤษฏีสีแดงมีผลต่อการกระตุ้นจิตใจ เร้าใจ"

ขั้นตอนการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ขั้นตอนที่ 1 การได้มาของปัญหาที่จะทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล
ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์
ขั้นตอนที่ 4 การลงมือทำโครงงานวิทยาศาสตร์ตามแผนที่วางไว้
ขั้นตอนที่ 5 การเขียนรายงาน
ขั้นตอนที่ 6 การเสนอและการแสดงผลงานของโครงงาน